เมนู

2. ปัญหาสูตร


ว่าด้วยปัญหาพยากรณ์ 4


[42] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปัญหาพยากรณ์ (การกล่าวแก้ปัญหา)
4 อย่างนี้ ปัญหาพยากรณ์ 4 คืออะไรบ้าง คือปัญหาเป็นเอกังสพยากรณียะ
(ต้องแก้โดยส่วนเดียว) 1 ปัญหาเป็นวิภัชชพยากรณียะ (ต้องจำแนกแก้) 1
ปัญหาเป็นปฏิปุจฉาพยากรณียะ (ต้องย้อนถามแล้วจึงแก้) 1 ปัญหาเป็นฐปนียะ
(ต้องงดแก้) 1 ภิกษุทั้งหลาย นี้แล ปัญหาพยากรณ์ 4 อย่าง
ปัญหาพยากรณ์อย่างหนึ่งพึงแก้โดย
ส่วนเดียว อีกอย่างหนึ่งพึงจำแนกแก้
อย่างที่ 3 พึงย้อนถาม ส่วนที่ 4 พึง
งดแก้.
ก็ภิกษุใดรู้การที่จะกล่าวแก้ปัญหา
เหล่านั้นในฐานะนั้น ๆ ท่านเรียกภิกษุเช่น
นั้นว่า ผู้ฉลาดในปัญหา 4.
บัณฑิตผู้มั่นคง ยากที่ใครจะเทียบ
ยากที่ใครจะข่มเป็นผู้ลึกซึ้ง ยากที่ใครจะ
ทำลาย อนึ่งเป็นผู้ฉลาดในทางเจริญทาง
เสื่อมและในประโยชน์ 2 ฝ่าย เว้นทาง
เสื่อมทางที่ไม่เป็นประโยชน์ ถือเอาทาง
เจริญทางที่เป็นประโยชน์ เพราะได้
ประโยชน์ จึงได้ชื่อว่า บัณฑิต.

จบปัญหาสูตรที่ 2

อรรถกาปัญหาสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในปัญหาสูตรที่ 2 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า โย จ เนสํ ตตฺถ ตตฺถ ชานาติ อนุธมฺมตํ ความว่า
ภิกษุใดรู้การกล่าวแก้ปัญหาเหล่านั้น ในฐานะนั้น ๆ. บทว่า จตุปญฺหสฺส
กุสโล อาหุ ภิกฺขุํ ติถาวิธํ
ความว่า ท่านเรียกภิกษุผู้เช่นนั้น อย่างนี้ว่า
ผู้ฉลาดในปัญหาทั้ง 4. บทว่า ทุราสโท ทุปฺปสโห ความว่า อันใครๆ
ไม่อาจจะกระทบหรือข่มเอาได้. บทว่า คมฺภีโร ความว่า เป็นผู้ลึกซึ้ง
เหมือนมหาสมุทรสีทันดร 7 สมุทร. บทว่า ทุปฺปธํสิโย ได้แก่ ผู้ที่ใครๆ
เปลื้องได้ยาก อธิบายว่า ใคร ๆ ไม่อาจจะให้เขาปล่อยการยึดถือข้อที่เขาถือ
แล้วได้. บทว่า อตฺเถ อนตฺเถ จ ได้แก่ ในความเจริญและในความเสื่อม.
บทว่า อตฺถาภิสมยา ได้แก่ เพราะรวมเอาความเจริญไว้ได้. บทว่า
ธีโร ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ ความว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญา เขาเรียกกัน
อย่างนี้ว่า ผู้นี้ เป็นบัณฑิต ดังนี้.
จบอรรถกถาปัญหาสูตรที่ 2

3. ปฐมโกธสูตร


ว่าด้วยบุคคล 4 จำพวก


[43] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล 4 จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล 4 จำพวกคือใคร คือ บุคคลหนักในความโกรธ ไม่หนักในพระ-
สัทธรรม 1 บุคคลหนักในความลบหลู่ท่าน ไม่หนักในพระสัทธรรม 1